Thursday, June 7, 2007

การเขียนรายงาน

ขั้นที่ 5 การเขียนรายงาน


เมื่อดำเนินการทำโครงงานจนครบขั้นตอน ได้ข้อมูล ทำการวิเคราะห์ข้อมูลทั้งแปลผลและสรุปผลแล้ว
งานที่ต้องทำต่อไปคือ เขียนรายงาน การเขียนรายงานก็เพื่อให้คนอื่น ๆ ได้เข้าใจถึงแนวคิด วิธีการดำเนินการศึกษาค้นคว้าข้อมูล ผลที่ได้ ตลอดจนข้อสรุปและข้อเสนอแนะต่าง ๆ
การเขียนรายงาน ควรใช้ภาษาที่เข้าใจง่าย กระชับ ชัดเจน สั้น ๆ ตรงไปตรงมาและครอบคลุมประเด็นสำคัญของโครงงานที่ได้ทำไปแล้ว โดยมีส่วนประกอบเรียงลำดับดังนี้
1. ปกนอก
1.1 ชื่อเรื่อง การตั้งชื่อเรื่องที่ดีนั้นควรมีลักษณะดังนี้
- ตรงกับเรื่องที่ศึกษา เมื่ออ่านแล้วสามารถบอกได้ว่าเรื่องที่ทำนั้นเกี่ยวข้องกับสิ่งใด
- สั้นกระทัดรัด ชื่อโครงงานไม่ควรยาวเกินไป ควรตั้งให้สั้นกะทัดรัดและรัดกุมแต่ต้องได้ใจความตรงกับเรื่อง
- ไม่ควรเป็นประโยคคำถาม
- ใช้คำเร้าความสนใจ แต่ต้องไม่ทำให้ความหมายผิดเพี้ยนไปจากเนื้อเรื่องของโครงงาน
1.2 ชื่อผู้ทำโครงงาน
1.3 ชื่อที่ปรึกษาโครงงาน
1.4 หน่วยงานที่สังกัด
2. ปกใน
ปกในจะมีรูปแบบเหมือนปกนอกทุกประการ
3. บทคัดย่อ
เขียนอธิบายวิธีการดำเนินการศึกษา ผลที่ได้ ตลอดจนข้อสรุปอย่างย่อ ๆ ด้วยความเรียงติดต่อกันไป โดยทั่วไปนิยมเขียนไม่เกินหน้ากระดาษ
4. กิตติกรรมประกาศ
เป็นการกล่าวถึงหน่วยงาน หรือบุคคลที่มีส่วนทำให้โครงงานนี้ประสบความสำเร็จไม่ว่า จะเป็นการให้คำปรึกษา
คำแนะนำ การช่วยเหลือหรือให้การสนับสนุนด้านต่าง ๆ เช่น อุปกรณ์ ทุนสำหรับดำเนินการ ฯลฯ
5. คำนำ
เป็นการกล่าวถึงแนวคิด ที่มาและความสำคัญของโครงงานที่ดำเนินการศึกษาค้นคว้า จุดมุ่งหมาย สมมติฐาน
และขอบข่ายอย่างย่อ ๆ อาจเขียนเป็น 2 – 3 ย่อหน้าก็ได้
6. สารบัญ
เป็นส่วนที่ระบุว่า ภายในเล่มรายงานโครงงานประกอบด้วยอะไรบ้าง ใช้รูปแบบการเขียนปริญญานิพนธ์ทั่วไป
โดยแบ่งเป็น 4 ส่วน ตามลักษณะการนำเสนอข้อมูลและเรียงลำดับ ดังนี้
6.1 สารบัญเรื่อง
สารบัญ
เรื่อง หน้า
บทคัดย่อ
กิตติกรรมประกาศ
คำนำ
บทที่ 1 บทนำ
-ที่มาและความสำคัญของโครงงาน
-จุดมุ่งหมายของการศึกษา
-สมมติฐานของการศึกษา
-ตัวแปรที่เกี่ยวข้อง
-ขอบเขตของการศึกษา
-คำนิยามศัพท์เฉพาะ
-สถานที่ทำการศึกษา
-ระยะเวลาในการศึกษา
บทที่ 2 เอกสารที่เกี่ยวข้อง
บทที่ 3 วัสดุ อุปกรณ์และวิธีดำเนินการ
-วัสดุ อุปกรณ์
-วิธีดำเนินการทดลอง
บทที่ 4 ผลการทดลอง
บทที่ 5 สรุป อภิปรายผลและข้อเสนอแนะ
-สรุปผลการศึกษา
-อภิปรายผลการศึกษา
-ข้อเสนอแนะ
-บรรณานุกรม
-ภาคผนวก
6.2 สารบัญตาราง
การนำเสนอข้อมูลในรูปตาราง เป็นการจัดกระทำและสื่อความหมายข้อมูลที่ได้ทำการศึกษารูปแบบหนึ่ง
ส่วนใหญ่ใช้ในการบันทึกผลการศึกษา ดังนั้นเพื่อความสะดวกในการค้นหาควรจัดทำสารบัญตาราง บอกลำดับที่
ชื่อ และหน้า ดังนี้
-สารบัญตาราง
-ตาราง หน้า
1 แสดงหรือศึกษา………………………………………
2 แสดงหรือศึกษา………………………………………
6.1 สารบัญภาพประกอบ
การถ่ายภาพประกอบ การเขียนแผนภูมิรูปแบบต่าง ๆ เป็นการจัดกระทำและสื่อความหมายข้อมูลที่ทำการศึกษาอีกรูปแบบหนึ่งที่นิยมใช้กันแพร่หลาย การเลือกใช้รูปแบบการสื่อความหมายข้อมูลแบบใดนั้น ขึ้นอยู่กับจุดมุ่งหมายของการศึกษาค้นคว้าในเรื่องนั้น การจัดทำสารบัญภาพจึงเพิ่มความสะดวกในการค้นหาเช่นกัน โดยนับลำดับที่ของภาพประกอบ แยกออกจากลำดับที่ของตาราง ดังนี้
-สารบัญภาพประกอบ
-ภาพประกอบ หน้า
1 แสดง…………………………………………………
2 แผนภูมิแท่งแสดง……………………………………
7. บทที่ 1 บทนำ
7.1 ที่มาและความสำคัญของโครงงาน
อธิบายความสำคัญของโครงงาน เหตุผลที่เลือกทำโครงงานนี้ หลักการหรือทฤษฎีที่เกี่ยวข้องกับโครงงาน
เรื่องที่ทำ เป็นเรื่องใหม่หรือมีผู้อื่นเคยศึกษาไว้บ้างแล้ว ถ้ามีได้ผลเป็นอย่างไร เรื่องที่ทำนี้ได้ขยายเพิ่มเติมหรือ
ปรับปรุงจากเรื่องที่ผู้อื่นได้ทำไว้อย่างไรบ้าง
7.2 จุดมุ่งหมายของการศึกษา
ในบางครั้งอาจใช้คำว่า “วัตถุประสงค์ของการศึกษา” หรือถ้าเป็นโครงงานทดลองอาจใช้คำว่า “จุดมุ่งหมายของการทดลอง” ในการเขียนจะกล่าวถึงสิ่งที่ต้องการศึกษาหาคำตอบซึ่งมักนิยมเขียนในลักษณะความสัมพันธ์ระหว่าง
ตัวแปรต้นและตัวแปรตาม
7.3 สมมติฐานของการศึกษา
สมมติฐานเป็นคำตอบหรืออธิบายที่คาดการณ์ไว้ล่วงหน้าโดยยังไม่มีการทดสอบซึ่ง อาจจะถูกหรือไม่ถูกก็ได้ การเขียนสมมติฐานควรมีเหตุและมีผล มีทฤษฎีทางวิทยาศาสตร์รองรับและที่สำคัญคือเป็นข้อความที่มองเห็น
แนวทางในการดำเนินการทดลองหรือสามารถทดสอบได้ ส่วนใหญ่การเขียนรายงานโครงงานวิทยาศาสตร์มีสมมติฐานของการศึกษา ยกเว้นโครงงานประเภทสำรวจ
7.4 ตัวแปรที่เกี่ยวข้อง
การศึกษาทางวิทยาศาสตร์ ได้แบ่งตัวแปรออกเป็น 3 ประเภท คือ
- ตัวแปรต้นหรือตัวแปรอิสระ คือ สิ่งที่เป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดผลต่าง ๆ หรือ สิ่งที่เราต้องการศึกษาทดลองดูว่าเป็นสาเหตุที่ก่อให้เกิดผลเช่นนั้นจริงหรือไม่
- ตัวแปรตาม คือ สิ่งที่เป็นผลเนื่องมาจากตัวแปรต้น เมื่อตัวแปรต้นหรือ สิ่งเป็นสาเหตุเปลี่ยนไป ตัวแปรตามหรือสิ่งที่เป็นผลก็จะเปลี่ยนไปด้วย
- ตัวแปรที่ต้องควบคุม คือ สิ่งอื่น ๆ นอกเหนือจากตัวแปรต้นที่จะมีผลต่อ การศึกษา ซึ่งจะต้องควบคุมให้เหมือนกัน มิเช่นนั้นแล้วอาจทำให้ผลการศึกษาคลาดเคลื่อน
7.5 ขอบเขตของการศึกษา
เป็นการบอกว่าจะศึกษาเรื่องใด ภายใต้เงื่อนไขอย่างไร เป็นระยะเวลานานเท่าใด
7.6 คำนิยามศัพท์เฉพาะ
เป็นการกำหนดความหมายและขอบเขตของคำต่าง ๆ ในสมมติฐานที่ต้องการศึกษา เพื่อให้ผู้อื่นเข้าใจตรงกัน ต้องสามารถตรวจสอบ สังเกตหรือวัดได้
7.7 สถานที่ทำการศึกษา
ถ้าเป็นโครงงานประเภททดลอง ให้เขียนบอกสถานที่ที่ดำเนินการทดลอง เช่น ห้องปฎิบัติการวิทยาศาสตร์ โรงเรียนวัดโพธิ์แทน อำเภอองครักษ์ จังหวัดนครนายก ถ้าเป็นโครงงานประเภทสำรวจ เช่น
บริเวณโรงเรียนวัดโพธิ์แทน อำเภอองครักษ์ จังหวัดนครนายก
7.8 ระยะเวลาที่ทำการศึกษา
ระบุวัน เดือน ปี ที่ทำการศึกษาตั้งแต่วันเริ่มต้น จนถึง วันสุดท้ายที่การศึกษาค้นคว้าสิ้นสุดลง
8. บทที่ 2 เอกสารที่เกี่ยวข้อง
เป็นการศึกษาเอกสารหรืองานวิจัยที่เกี่ยวข้องอาจเป็นหลักการ ทฤษฎี หรืออ้างอิงตามหลักของสถาบันใดก็ได้ แต่ต้องใช้เป็นรูปแบบเดียวกันตลอดทั้งเอกสาร เช่น วิธีการศึกษาค้นคว้าที่สอดคล้องกับหัวข้อเรื่องที่จะทำโครงงานวิทยาศาสตร์ และต้องมีการเขียนอ้างอิงแทรกในเนื้อหาที่กล่าวถึงเพื่อแสดงให้เห็นถึงแหล่งที่ค้นคว้ามา โดยจะใช้การอ้างอิงตามหลักของสถาบันใดก็ได้ แต่ต้องใช้เป็นรูปแบบเดียวกันตลอดทั้งเอกสาร เช่น
(ชื่อผู้แต่งและชื่อสกุล. ปีที่พิมพ์ : หน้าที่ใช้อ้างอิง)
สุบิน ณ อัมพร (2545 : 10 - 12) ได้ทำการศึกษาเกี่ยวกับ……………..
9. บทที่ 3 วัสดุ อุปกรณ์ และวิธีดำเนินการทดลอง
9.1 วัสดุ อุปกรณ์
ในการทำโครงงานวิทยาศาสตร์ วัสดุอุปกรณ์ที่ใช้มักจะประกอบไปด้วย เครื่องมือ เครื่องใช้ สารเคมี และสิ่งมีชีวิตที่ใช้ศึกษา วัสดุอุปกรณ์ประเภทเดียวกันควรเขียนเรียงลำดับตามกันไปจนครบ แล้วเขียนวัสดุอุปกรณ์ประเภทอื่นเรียงต่อกันไป
9.2 วิธีดำเนินการทดลอง/วิธีดำเนินการศึกษา
เป็นการเขียนอธิบายลำดับขั้นตอนของการศึกษาอย่างละเอียด
10. บทที่ 4 ผลการศึกษา
เป็นการนำเสนอข้อมูลที่สังเกต หรือจดบันทึกรวบรวมไว้จากการศึกษาค้นคว้า รวมทั้งเสนอผลการวิเคราะห์ข้อมูล ซึ่งข้อมูลที่ได้มี 2 รูปแบบ คือ
- ข้อมูลเชิงปริมาณ อาจจัดกระทำและสื่อความหมายข้อมูลในรูปของตารางหรือแผนภูมิก็ได้ เพื่อให้ผู้อ่านสามารถเข้าใจได้โดยง่าย
- ข้อมูลเชิงคุณภาพ อาจเขียนในลักษณะข้อความบรรยายสั้น ๆ หรือมี ภาพประกอบข้อมูลด้วยก็ได้ เพื่อให้ผู้อ่านสามารถเข้าใจได้โดยง่าย
11. บทที่ 5 สรุป อภิปรายผลการศึกษาและข้อเสนอแนะ
11.1 สรุปผลการศึกษา
การสรุปผลการศึกษาควรยึดจุดมุ่งหมายของการศึกษาของเรื่องเป็นหลัก แล้วเขียนสรุปผลตามจุดมุ่งหมาย
ที่วางไว้
11.2 อภิปรายผลการศึกษา
การอภิปรายผล เป็นการอ้างอิงหลักการ ทฤษฎี หรือผลงานที่ผู้อื่นศึกษาไว้แล้วว่า สัมพันธ์ สอดคล้อง
หรือขัดแย้งกับผลการศึกษาค้นคว้าครั้งนี้อย่างไร
11.3 ข้อเสนอแนะ
เป็นการเสนอแนะสิ่งที่น่าจะศึกษาเพิ่มเติมต่อไป อย่างไร และการปรับปรุงแก้ไขซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อ
ผู้ที่จะศึกษาค้นคว้าในเรื่องลักษณะเดียวกันต่อไปในอนาคต
12. บรรณานุกรม
ก่อนถึงบรรณานุกรมควรมีหน้าบอกให้วางคำ “บรรณานุกรม” ไว้กึ่งกลางหน้ากระดาษและนับหน้านี้รวมกับหน้าอื่นด้วย โดยไม่ต้องใส่หมายเลขหน้ากำกับ บรรณานุกรมเป็นการเขียนชื่อผู้แต่ง ชื่อหนังสือที่นำมาใช้ประกอบการศึกษาค้นคว้า เรียงลำดับการเขียนตามลำดับ ตัวอักษรตามแบบพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถานโดยไม่ต้องใส่เลขลำดับรายการโดยมีวิธีการเขียนดังนี้
12.1 การเขียนบรรณานุกรมของหนังสือที่มีชื่อผู้แต่ง เช่น
ตัวอย่าง ผู้แต่ง 1 คน
(ชื่อ ชื่อสกุล. ชื่อหนังสือ. (ตัวหนา) ครั้งที่พิมพ์. (ถ้าพิมพ์ครั้งแรกไม่ต้องใส่ ครั้งที่พิมพ์) สำนักพิมพ์. ปีที่พิมพ์.

ธีระชัย ปูรณโชติ. คู่มือครู การสอนกิจกรรมโครงงานวิทยาศาสตร์.
กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 2531.
ตัวอย่าง ผู้แต่ง 2 คน
ให้ใช้คำว่า “และ” คั่นระหว่างชื่อผู้แต่งทั้ง 2 คน

วรรณทิพา รอดแรงค้า และพิมพ์พันธ์ เดชะคุปต์. การพัฒนาการคิดของครู
ด้วยกิจกรรมทักษะกระบวนการทางวิทยาศาสตร์. กรุงเทพฯ : เดอะมาสเตอร์ กรุ๊ปแมเนจเม้นท้, 2547.
ตัวอย่าง ผู้แต่ง 3 คน
ใช้เครื่องหมายจุลภาคคั่นระหว่างชื่อคนแรกและชื่อคนที่สอง ใช้คำว่า “และ” คั่นระหว่างชื่อผู้แต่งคนที่สองและคนที่สาม เช่น

พิมพ์พันธ์ เดชะคุปต์, พเยาว์ ยินดีสุข และราเชน มีศรี. การพัฒนาการคิดของครูด้วยโครงงาน.
กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 2548.
ตัวอย่าง ผู้แต่งมากกว่า 3 คน
ให้เขียนชื่อผู้แต่งคนแรกและใช้คำว่า “และคณะ” ต่อจากชื่อคนแรก เช่น

สมบัติ การจนารักพงค์ และคณะ. เทคนิคการจัดกิจกรรมการเรียนรู้แบบ 5 E.
กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 2548.
12.2 การเขียนบรรณานุกรมของหนังสือที่จัดทำขึ้นในนามของหน่วยงานต่างๆ
ให้ลงชื่อหน่วยงานนั้น ๆ ในตำแหน่งผู้แต่ง โดยลงหน่วยงานใหญ่แล้วตามด้วย หน่วยงานย่อย เช่น

ส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี, สถาบัน. คู่มือการทำและการจัดแสดง
โครงงานวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี. กรุงเทพฯ : สถาบันส่งเสริมการสอน
วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี, 2531.

13. ภาคผนวก
ก่อนถึงภาคผนวก ควรมีหน้าบอก ให้วางคำ “ภาคผนวก” ไว้กึ่งกลางหน้ากระดาษและนับหน้านี้รวมกับหน้าอื่นด้วย โดยไม่ต้องใส่หมายเลขหน้ากำกับ ในส่วนของภาคผนวกนี้เป็นการนำส่วนที่บันทึกหรือข้อมูลที่ได้จากการศึกษาที่ต้องการแสดงเพิ่มเติม เช่น สูตรการคำนวณ สูตรอาหาร วิธีเตรียมสารเคมีที่ทำการศึกษา ข้อมูลดิบที่บันทึกไว้ซึ่งยังไม่ได้สรุป หรือยังไม่ได้จัดกระทำให้อยู่ในรูปกราฟ แผนภูมิ และตารางสรุป
เป็นต้น ฯลฯ

No comments: