ขั้นที่ 6 การแสดงผลงาน
การแสดงผลงานจัดเป็นขั้นตอนที่สำคัญอีกประการหนึ่งของการทำโครงงาน เรียกได้ว่าเป็นงานขั้นสุดท้ายของการทำโครงงานวิทยาศาสตร์ เป็นการแสดงผลิตผลของงาน ความคิดและความหมายทั้งหมดที่ผู้ทำโครงงานได้ทุ่มเทลงไป และเป็นวิธีการที่จะทำให้ผู้อื่นได้รับรู้และเข้าใจ
การแสดงผลงานอาจทำได้ในรูปแบบต่าง ๆ เช่น การแสดงนิทรรศการ ซึ่งมีทั้งการจัดแสดงและการอธิบายด้วย
คำพูด หรือในรูปแบบของการจัดแสดงโดยไม่มีการอธิบายประกอบ หรือรูปแบบของการรายงานปากเปล่า เป็นต้น
การแสดงนิทรรศการ
การแสดงนิทรรศการ ก่อให้เกิดการชื่นชมผลงานของตนเองและของผู้อื่น เกิดความภาคภูมิใจ เป็นแรงเสริม
ในการพัฒนางานชิ้นใหม่ต่อไป
การเตรียมเสนอผลงานเพื่อจัดแสดงนิทรรศการ
การเตรียมเสนอผลงานเพื่อจัดนิทรรศการ ควรดำเนินการดังนี้
1. จัดทำแผงสำหรับแสดงโครงงาน ซึ่งส่วนใหญ่แล้วอาจารย์ที่ปรึกษาและนักเรียนร่วมกันรับผิดชอบเพื่อประกอบ
การจัดแสดงนิทรรศการ โดยมีขนาดตามมาตรฐาน ดังนี้
แผ่น ก. 1 (แผ่นซ้าย) ก. 2 (แผ่นขวา) ขนาด 60 x 60 เซนติเมตร
แผ่น ข (แผ่นกลาง) ขนาด 60 x 120 เซนติเมตร ติดบานพับระหว่าง ก. 1 กับ ข กับ ก. 2 มีห่วงรับ
และขอสับทำมุมประมาณ 100 องศา กับแผ่นกลาง
2. จัดทำโปสเตอร์เพื่อติดบนแผงแสดงโครงงาน ควรเน้นจุดเด่น ๆ ข้อมูลต่าง ๆ ใช้วิธีสื่อความหมายข้อมูลในรูปของกราฟ รูปภาพ แผนภูมิ หรือตาราง ข้อความควรกระทัดรัด อ่านเข้าใจง่าย ชัดเจน ขนาดตัวอักษรสามารถอ่านได้ในระยะ 2 เมตร ภายในแผงโครงงาน ควรประกอบไปด้วยหัวข้อ ดังนี้
2.1 ชื่อโครงงาน
2.2 ผู้จัดทำโครงงาน
2.3 อาจารย์ที่ปรึกษา
2.4 สังกัด
2.5 บทคัดย่อ
2.6 ที่มาและความสำคัญของโครงงาน
2.7 จุดมุ่งหมาย
2.8 สมมติฐาน (ถ้ามี)
2.9 ตัวแปรที่เกี่ยวข้อง (ถ้ามี)
2.10 ขอบเขตของการศึกษา
2.11 คำนิยามศัพท์เฉพาะ
2.12 สถานที่ทำการศึกษา
2.13 ระยะเวลาในการศึกษา
2.14 วัสดุ อุปกรณ์
2.15 วิธีดำเนินการทดลอง
2.16 ผลการทดลอง
2.17 สรุปผลการทดลอง
2.18 ข้อเสนอแนะ
3. ควรมีอุปกรณ์และผลการทดลองที่เป็นของจริงหรือชิ้นงานสำหรับแสดงประกอบหน้าแผงโครงงานแต่ต้องระมัดระวังไม่ให้บังข้อความบนแผงโครงงาน
4. ตรวจสอบความถูกต้องทุกสิ่งทุกอย่างที่แสดง เช่น การสะกดคำ การเขียนอธิบายหลักการ ถ้าเป็นสิ่งประดิษฐ์ต้องอยู่ในสภาพที่ทำงานได้สมบูรณ์
5. มีความเหมาะสมและปลอดภัยกับเนื้อหาที่จัดแสดง เช่น ถ้าลมแรงควรยึด
แผงโครงงานให้มั่นคง มิเช่นนั้นอาจล้มลงทับอุปกรณ์ด้านหน้าเกิดความเสียหายได้
6. การอธิบายปากเปล่าหน้าแผงโครงงาน ผู้ที่ทำหน้าที่อธิบายควรได้รับการฝึกจากอาจารย์ที่ปรึกษาเพื่อให้เกิดความมั่นใจ และเพื่อพัฒนาเทคนิคการอธิบายปากเปล่าให้น่าสนใจ เช่น ลำดับและการแบ่งเนื้อหาในการอธิบายของคนในทีม การยกอุปกรณ์หรือผลการทดลองที่เป็นของจริงประกอบการอธิบาย ฯลฯ ซึ่งต้องอาศัยการร่วมมือที่สอดคล้อง ระหว่างผู้ร่วมงานเดียวกันให้ราบรื่น โดยไม่ติดขัดขณะทำการอธิบายปากเปล่า
7. การตอบข้อซักถาม นักเรียนควรได้รับการฝึกการตอบข้อซักถามทุกแง่ ทุกมุม จากอาจารย์ที่ปรึกษาเกี่ยวกับเรื่องโครงงานที่ค้นคว้าและในการตอบผู้จัดทำโครงงานทั้งหมดต้อง
ช่วยกันเสริมคำตอบให้สมบูรณ์ยิ่งขึ้น ด้วยจังหวะและช่วงเวลาการพูดที่ไม่ใช่การแย่งกันตอบหรือเกี่ยงกันตอบ
Subscribe to:
Post Comments (Atom)
1 comment:
เป็นความรู้ที่มีประโยชน์สามารถนำไปใช้ในการจัดการเรียนการสอนได้เป็นอย่างดี น่าจะมีการเผยแพร่ผลงานในลักษณะนี้บ่อยๆนะครับ โดยวิธีการนี้ถึอเป็นการเผยแพร่ที่ประหยัดต้นทุน และทั่วถึงจริงๆครับ ขอชมเชย และควรนำเป็นแบบอย่าง
Post a Comment