Tuesday, June 5, 2007

การคิดหรือเลือกหัวข้อเรื่องที่จะทำโครงงาน

ขั้นที่ 1 การคิดหรือเลือกหัวข้อเรื่องที่จะทำโครงงาน

การคิดหรือเลือกหัวข้อเรื่องของโครงงาน เป็นขั้นที่สำคัญที่สุดของการทำโครงงาน
ควรเป็นไปตามความสามารถ ความถนัด ความสนใจ และความต้องการของตนเอง โดยทั่วไปหัวข้อเรื่องของโครงงานมักจะได้มาจากปัญหา คำถาม หรือความอยากรู้อยากเห็นเกี่ยวกับเรื่องต่าง ๆ ที่ประสบในชีวิตประจำวัน
การเลือกหัวข้อเรื่องในการทำโครงงาน มาจากแหล่งต่าง ๆ พอสรุปได้ดังนี้
1. จากการอ่านงานวิชาการต่าง ๆ เช่น ตำรา หนังสือพิมพ์ วารสาร งานวิจัย บทความหรือเอกสารต่าง ๆ
ตัวอย่าง
จากการอ่านหนังสือพิมพ์ พบว่า มะนาวกับมะกรูดเป็น
พืชที่มีความใกล้ชิดกันสามารถนำมะนาวมาเสียบยอดบนต้นมะกรูดได้
ก็อาจจะทำให้นักเรียนนำวิธีการดังกล่าวไปใช้กับต้นไม้อื่น ๆ ที่มี
ความใกล้ชิดกันและอาจนำมาเสียบยอดกันได้ เช่น ต้นชบากับ
กระเจี๊ยบขาวอยู่ในตระกูลเดียวกัน หรือต้นมะลิลาอยู่ในตระกูล
เดียวกับต้นพุด นักเรียนก็เลยคิดทำโครงงานเรื่อง “การเสียบยอด
กระเจี๊ยบขาวบนต้นชะบา” หรือ “การเสียบยอดมะลิลาบนต้นพุด”
2. จากการฟังบรรยายทางวิชาการ การฟังและชมรายการทางวิทยุ โทรทัศน์
ตัวอย่าง
เรื่องเกี่ยวกับพืช อาจคิดเรื่องที่จะทำโครงงานที่เกี่ยวกับ เช่น
- การนำโฟมมาใช้ในการปักชำพืช
- การปลูกพืชโดยไม่ใช้ดิน
- การสกัดสีผสมอาหารจากพืช
- การสำรวจพืชสมุนไพรในท้องถิ่น
- ปุ๋ยสูตรพิเศษสำหรับการเจริญเติบโตของพืช
ตัวอย่าง
เรื่องเกี่ยวกับปลา อาจคิดเรื่องที่จะทำโครงงานเกี่ยวกับ เช่น
- การสำรวจและจำแนกชนิดของปลาน้ำจืด
- การใช้สมุนไพรบางชนิดแปลงเพศปลา
- การศึกษาพฤติกรรมผสมพันธุ์และการออกไข่ของปลา
- สูตรอาหารเลี้ยงปลา
- เครื่องให้ออกซิเจนแบบประหยัดสำหรับตู้ปลา
- ที่กรองเศษอาหารสำหรับตู้ปลาแบบประหยัด
- วิธีการเพาะเลี้ยงปลาให้ได้ลูกเป็นจำนวนมาก
2. จากกิจกรรมการเรียนการสอนในห้องเรียน
ตัวอย่าง
ครูเคยสอนให้นักเรียนศึกษาเกี่ยวกับวิธีการทดสอบปริมาณวิตามินซี
มาแล้วในบทเรียน ก็อาจนำความรู้เกี่ยวกับวิธีการทดสอบปริมาณ
วิตามินซีไปกำหนดเป็นหัวข้อโครงงานได้ เช่น
- การเปรียบเทียบวิตามินซีของผลไม้ชนิดต่าง ๆ
- กรรมวิธีในการรักษาคุณค่าของวิตามินซีในผัก ผลไม้ชนิดต่างๆ
3. จากภูมิปัญญาท้องถิ่น ภูมิปัญญาชาวบ้าน ก็สามารถนำมาทำโครงงานได้
ตัวอย่าง
- การใช้ใบพลูแก้ลมพิษ
- การใช้สีจากพืชย้อมผ้า
- การใช้ใบสาบเสือห้ามเลือด
- การสำรวจภูมิปัญญาท้องถิ่นด้านวิทยาศาสตร์
- การสำรวจภูมิปัญญาท้องถิ่นด้านเกษตรกรรม
- สูตรการทำบั้งไฟ
4. จากการสังเกตปรากฏการณ์สิ่งแวดล้อมรอบตัว
ตัวอย่าง
บ้าน/โรงเรียนอยู่ใกล้แหล่งโบราณสถาน โบราณวัตถุ ก็อาจทำโครงงาน
เกี่ยวกับ
- ศึกษาค้นคว้าเกี่ยวกับประวัติหรือความเป็นมาของโบราณสถาน
โบราณวัตถุ
ตัวอย่าง
จังหวัดนครนายกเป็นแหล่งท่องเที่ยว ก็อาจทำโครงงานเกี่ยวกับ - การสำรวจแหล่งท่องเที่ยวในจังหวัดนครนายก
- ศึกษาค้นคว้าเกี่ยวกับประวัติหรือความเป็นมาของ
แหล่งท่องเที่ยวในจังหวัดนครนายก
ตัวอย่าง
จังหวัดนครนายก มีการปลูกมะยงชิด มะปรางหวาน ก็อาจทำโครงงาน
เกี่ยวกับ
- วิธีการปลูกมะยงชิดให้ผลโตเท่าไข่ไก่และมีรสหวาน
- การประยุกต์วิธีการตอน การทาบกิ่งมะยงชิดให้ได้ผลเร็ว
- ปุ๋ยสูตรพิเศษสำหรับการเจริญเติบโตของมะยงชิด
5. จากการศึกษาโครงงานวิทยาศาสตร์ที่มีผู้อื่นทำไว้แล้ว
ตัวอย่าง
โครงงานวิทยาศาสตร์ เรื่อง การเปลี่ยนเพศปลาหางนกยูงโดยใช้ไรแดง
อาจจะประยุกต์วิธีการดังกล่าวมาใช้เปลี่ยนเพศปลาชนิดอื่น ๆ เช่น
- การแปลงเพศปลานิล
- การแปลงเพศปลากัด
โครงงานวิทยาศาสตร์ เรื่อง การเลี้ยงผึ้งโพรงไทย อาจดัดแปลงมาเป็น
โครงงานวิทยาศาสตร์ เช่น
- การศึกษาเกี่ยวกับสูตรอาหารเลี้ยงผึ้ง
- ดอกไม้เทียมเลี้ยงผึ้ง
- พฤติกรรมการผสมพันธุ์ของผึ้ง
6. จากการสนทนากับครู อาจารย์ เพื่อน หรือบุคคลอื่น
ตัวอย่าง
การสนทนาเกี่ยวกับไก่ อาจคิดมาเป็นโครงงานวิทยาศาสตร์ เช่น
- สูตรอาหารเสริมพิเศษสำหรับไข่ไก่
- เครื่องเพาะฟักไข่ไก่แบบประหยัด
- การนำขนไก่มาทำเป็นอาหารเสริมเลี้ยงสัตว์
- สูตรอาหารเพาะเลี้ยงไส้เดือนจากมูลไก่
- วิธีการฟักไข่ไก่ที่ร้าวให้เป็นตัว
- การศึกษาพฤติกรรมก้าวร้าวในไก่พื้นเมือง
- ผลของฮอร์โมนเพศกับไก่
- การใช้สมุนไพรในการเลี้ยงไก่
- การศึกษาประวัติไก่ชน
6. จากงานที่เป็นอาชีพในท้องถิ่น
ตัวอย่าง
ถ้าชาวบ้านในท้องถิ่นมีอาชีพในการปลูกต้นตาลและทำน้ำตาลโตนดขาย
อาจคิดมาเป็นโครงงานวิทยาศาสตร์ เช่น
- การทำน้ำตาลผงสูตรพิเศษในการทำขนมตาลให้ฟู
- กรรมวิธีในการเก็บรักษาน้ำตาลไม่ให้บูดเสีย
- วิธีการเก็บรักษาน้ำตาลปึกค้างปีไม่ให้มีสีดำ
- เทคนิคการเพาะต้นตาล
- การทำกระดาษจากส่วนต่าง ๆ ของตาล
- วิธีการกำจัดแมลงที่เป็นศัตรูของต้นตาล
ถ้าชาวบ้านในท้องถิ่นมีอาชีพในการทำขนมไทยขาย อาจคิดมาเป็น
โครงงาน เช่น
- ศึกษาเกี่ยวกับชนิดของขนมไทย
- ขนมไทยในวรรณคดี
- ขนมไทยตามกาพย์เห่เรือชมเครื่องคาวหวาน
- สีผสมขนมไทยจากพืชท้องถิ่น
- ประวัติขนมไทย

หลังจากเลือกหัวเรื่องที่จะทำโครงงานได้แล้วว่าจะศึกษาสิ่งใด สิ่งที่ควรทำต่อไปคือ
การตั้งชื่อโครงงาน ซึ่งชื่อเรื่องของโครงงานจะเป็นสิ่งที่จะชี้ให้ผู้อื่นเข้าใจปัญหา วิธีการศึกษาของโครงงานนั้น ซึ่งชื่อเรื่องที่ดีควรมีลักษณะดังนี้
1. ตั้งชื่อเรื่องให้ตรงกับเรื่องที่ศึกษา ซึ่งเมื่ออ่านชื่อเรื่องแล้วทำให้สามารถบอกได้ว่า
เรื่องนั้นมีลักษณะวิธีการศึกษาอย่างไร เช่น
- การฟักไข่ร้าวให้เป็นตัวด้วยกาวบางชนิด
- การสำรวจพืชสมุนไพรในท้องถิ่น
- การทำกระดาษจากกาบกล้วย
2. ตั้งชื่อเรื่องให้กะทัดรัดได้ใจความสมบูรณ์ สื่อความหมายตรงเข้าใจง่ายรัดกุม เช่น
- การทำชะอมแตกยอดนอกฤดู
- การชะลอการบูดของอาหารด้วยขิง
- การใช้ยาแอสไพรินชะลอการเหี่ยวของดอกกุหลาบ
3. ควรมีการเร้าความสนใจ แต่ต้องไม่ตั้งชื่อให้เห็นว่าเป็นเรื่องที่สำคัญเกินความเป็นจริง เช่น
- การเปลี่ยนเพศปลาหางนกยูงด้วยไรแดง
- การเสียบยอดมะกอกฝรั่งแคระบนตอปักชำมะกอกบ้าน
- เครื่องพ่นยาอัตโนมัติแบบประหยัด
- การทำให้ชบาออกฝักเป็นกระเจี๊ยบเขียว
- การใช้เมล็ดโฟมป้องกันหนอนผีเสื้อกินใบส้ม

No comments: