บทบาทครูกับการสอนโครงงานวิทยาศาสตร์
1. ให้คำอธิบายเพื่อให้นักเรียนได้มีความรู้ ความเข้าใจในการเรียนรู้แบบโครงงานวิทยาศาสตร์ ความหมายของโครงงาน ประเภทของโครงงาน ขั้นตอนการทำโครงงาน การเขียน
เค้าโครงย่อของโครงงาน และการเขียนรายงานให้สมบูรณ์ ก่อนที่จะให้นักเรียนลงมือปฏิบัติการ
2. เป็นที่ปรึกษา ให้คำแนะนำ กำกับติดตามการทำงานและประเมินผลโครงงานแต่ไม่ควรเป็นผู้คิดขั้นตอนการทำและลงมือทำให้นักเรียน นักเรียนจะต้องคิด วางแผนและลงมือปฏิบัติด้วยตนเอง
3. เป็นผู้ช่วยเหลือนักเรียนในด้านการพิจารณาเค้าโครงย่อของโครงงาน การจัดหาแหล่งความรู้หรือแหล่งเรียนรู้ แหล่งในการศึกษาค้นคว้า รวมถึงวัสดุอุปกรณ์ต่าง ๆ
4. เป็นผู้กระตุ้นให้นักเรียนเกิดความอยากรู้ อยากศึกษาค้นคว้า เพื่อให้แสดงออกถึงความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ผลิตผลงานที่เกิดจากโครงงานได้ด้วยตนเอง อีกทั้งให้การสนับสนุน ให้กำลังใจและฝึกนักเรียนมีความอดทนต่อการทำงาน และสามารถแก้ไขปัญหาในการทำงานได้
5. ดูแลนักเรียนระหว่างทำโครงงานในเรื่องความสะดวก ปลอดภัยในการทำโครงงานจะต้องชี้แจงและให้คำแนะนำด้วย
6. เป็นผู้แนะนำให้นักเรียนเขียนรายงานโครงงาน การจัดผังแสดงโครงงาน
การจัดกระทำข้อมูลอย่างถูกต้อง
บทบาทครูที่ปรึกษาโครงงานวิทยาศาสตร์ แบ่งออกเป็น 5 ระยะ ดังนี้
1. ระยะเริ่มโครงงาน หมายถึง ระยะที่นักเรียนได้หัวข้อเรื่องโครงงาน ครูที่ปรึกษาควรปฏิบัติดังนี้
1.1 พิจารณาความเป็นไปได้ของเรื่อง โดยดูว่าโครงงานของนักเรียนที่เสนอมานั้นจะมีทางทำสำเร็จหรือไม่ กรณีที่โครงงานมีความเป็นไปได้น้อย ครูที่ปรึกษาอาจแนะนำให้เปลี่ยนเรื่องใหม่
1.2 ขยายขอบเขตของเรื่องให้กว้างขึ้น กรณีที่เสนอเรื่องที่แคบเกินไป
1.3 แนะนำเอกสารและแหล่งค้นคว้าให้นักเรียน หรือหาจากแหล่งภายนอกอื่นๆ
1.4 เสนอแนะวิธีการวางแผน และการเขียนเค้าโครงย่อ
1.5 ตรวจเค้าโครงย่อ ครูควรตรวจจุดสำคัญ เช่น
- จุดมุ่งหมาย เขียนถูกต้องสอดคล้องกับความต้องการที่จะศึกษาหรือไม่
- โครงงานประเภทสำรวจ ควรดูรายละเอียดดังนี้
- มีการกำหนดขอบเขตที่จะศึกษาหรือไม่
- เครื่องมือที่ใช้เหมาะสมหรือไม่
- ระยะเวลาที่ใช้เหมาะสมหรือไม่
- ช่วงเวลาที่ศึกษาเหมาะสมหรือไม่
- ออกแบบตารางบันทึกผลเหมาะสมหรือไม่
- โครงงานประเภททดลอง ควรดูรายละเอียดดังนี้
- มีตัวแปรต้น ตัวแปรตาม และตัวแปรที่ต้องควบคุมหรือไม่
- กำหนดตัวแปรต้นหรือไม่
- เกณฑ์ที่ใช้วัดตัวแปรตามเหมาะสมหรือไม่
- เครื่องมือที่ใช้วัดเหมาะสมหรือไม่
- ตัวแปรที่ต้องควบคุมกำหนดหรือไม่
- ระยะเวลาที่ศึกษาเพียงพอหรือไม่
- ออกแบบตารางบันทึกผลเหมาะสมหรือไม่
2. ระยะลงมือปฏิบัติ หมายถึง ระยะที่นักเรียนจัดเตรียมอุปกรณ์ไปจนถึงระยะสิ้นสุดของการศึกษาหรือการทดลอง ครูที่ปรึกษาควรปฏิบัติดังนี้
2.1 จัดสถานที่สำหรับทำโครงงานให้เป็นสัดส่วนเพราะบางทีต้องใช้เวลาหลายวัน ซึ่งถ้าไม่มีสถานที่อาจใช้มุมใดมุมหนึ่ง
2.2 จัดหาเครื่องมือ อุปกรณ์และสารเคมีต่างๆ ที่จำเป็นในการทำโครงงานให้กับนักเรียนและให้นักเรียนรับผิดชอบ บางครั้งจำเป็นต้องมีการไปยืมจากแหล่งอื่น
2.3 ชี้แจงการใช้ห้องปฏิบัติการ การใช้เครื่องมือ อุปกรณ์และอันตรายจากการใช้เครื่องมือ
2.4 ควรฝึกเทคนิคบางประการที่จำเป็นต้องใช้กับโครงงานให้เกิดความชำนาญในการทำโครงงาน
2.5 ติดตามผลการปฏิบัติงานของนักเรียนสม่ำเสมอ เนื่องจากการทำโครงงานส่วนใหญ่ทำนอกเวลาเรียน ดังนั้นครูที่ปรึกษาจึงต้องมีเวลาคอยควบคุมดูแลการทำโครงงานของนักเรียนแต่ถ้าครูที่ปรึกษามีเวลาน้อยก็ใช้วิธีการติดตามผล โดยให้นักเรียนเสนอผลการศึกษาเป็นระยะๆ ต่อครูที่ปรึกษาอย่างน้อยสัปดาห์ละหนึ่งครั้ง
2.6 ให้กำลังใจนักเรียนในระหว่างที่ดำเนินการทำโครงงานอยู่ เสริมสร้างกำลังใจเพื่อไม่ให้เกิดความท้อแท้
3. ระยะเวลาสิ้นสุด หมายถึง ระยะที่ทำการศึกษาหรือทดลองเสร็จสิ้นให้นักเรียนนำเสนอครูที่ปรึกษา โดยครูที่ปรึกษาดำเนินการดังนี้
3.1 แนะนำวิธีการจัดกระทำข้อมูล เช่น การออกแบบตาราง นำข้อมูลมาหาค่าเฉลี่ย แปลความหมายข้อมูล
3.2 เสนอแนะวิธีการเขียนรายงาน โดยมีตัวอย่างประกอบ
3.3 ตรวจรายงานพร้อมแก้ไขให้กับนักเรียน เนื่องจากนักเรียนยังขาดประสบการณ์ในการเขียนเมื่อตรวจแก้ไขเสร็จให้นักเรียนนำไปเขียนใหม่แล้วส่งกลับมาให้ครูตรวจอีกครั้งหนึ่ง
4. ระยะเตรียมการเสนอผลงานเพื่อจัดแสดง หรือส่งประกวด
4.1 จัดทำแผงสำหรับแสดงโครงงาน
4.2 เสนอแนะวิธีนำแผ่นโปสเตอร์แสดงโครงงาน เพื่อติดบนแผงแสดงโครงงาน
4.3 เสนอแนะการเตรียมอุปกรณ์ ผลการทดลองที่เป็นชิ้นงาน
4.4 ตรวจความถูกต้องของข้อความ
4.5 ฝึกให้นักเรียนอธิบายปากเปล่าในเรื่องโครงงานที่นักเรียนทำเพื่อให้เกิดความมั่นใจ
4.6 ในแต่ละปีการศึกษาครูที่ปรึกษาควรรวบรวมรายงานโครงงานไว้เพื่อใช้เป็นตัวอย่างและแนวทางในการทำโครงงาน
5. ระยะแสดงผลงาน
การแสดงผลงานในที่นี้ หมายถึง การแสดงผลงานในงานนิทรรศการ หรือการประกวดโครงงาน ครูที่ปรึกษาควรปฏิบัติดังนี้
5.1 ดูแลความเรียบร้อยในการติดตั้งแผงอุปกรณ์และชิ้นงาน
5.2 สร้างความมั่นใจให้กับนักเรียน โดยอาจให้นักเรียนซักซ้อมการอธิบาย
โครงงานอีกครั้งก่อนการแสดงต่อหน้าผู้ชม หรือกรรมการตัดสินโครงงาน
5.3 ให้กำลังใจนักเรียนในขณะที่นักเรียนแสดงโครงงานโดยดูอยู่ห่างๆ
ข้อควรคำนึงโครงงานที่นักเรียนทำต้องไม่ยากเกินไป เพราะอาจจะทำให้นักเรียนท้อแท้ และระยะเวลาที่ทำโครงงานไม่ควรยาวนานเกินไป เพราะจะทำให้นักเรียนเบื่อหน่าย พยายามทำให้นักเรียนทำโครงงานสำเร็จทุกขั้นตอนโครงงานที่ทำไม่ต้องใช้งบประมาณมาก และควรคำนึงถึงความปลอดภัย
Subscribe to:
Post Comments (Atom)
No comments:
Post a Comment