Monday, August 11, 2008

จัดการศึกษาอย่างไร....ให้สอดคล้องกับหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐาน พ.ศ.2544

* สุบิน ณ อัมพร
เอกสารนิเทศทางไกล ฉบับที่ 1/2551 ผู้เขียนหวังเป็นอย่างยิ่งว่า
ผู้บริหารโรงเรียน เพื่อนครู หรือผู้ที่สนใจ คงหยิบขึ้นมาอ่านบ้าง
ถึงจะเป็นเรื่องที่รู้แล้ว......พระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2542
ได้กำหนดให้การจัดการศึกษาต้องเป็นไปเพื่อพัฒนาคนไทยให้เป็น
มนุษย์ที่สมบูรณ์ทั้งร่างกาย จิตใจ สติปัญญา ความรู้และคุณธรรม
มีจริยธรรมและวัฒนธรรมในการดำรงชีวิตสามารถอยู่ร่วมกับผู้อื่น
ได้อย่างมีความสุข ตลอดจนการจัดการศึกษาต้องยึดหลักว่าผู้เรียน
ทุกคนมีความสามารถเรียนรู้และพัฒนาตนเองได้ และถือว่าผู้เรียนมี
ความสำคัญที่สุด กระบวนการจัดการศึกษาต้องส่งเสริมให้ผู้เรียน
สามารถพัฒนาตามธรรมชาติและเต็มศักยภาพ
จากพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ ดังกล่าวข้างต้น
สถานศึกษาหรือผู้ที่มีหน้าที่จัดการศึกษาและครูผู้สอนต้องจัด
กระบวนการเรียนรู้เพื่อให้ผู้เรียนได้รับประโยชน์สูงสุด ดังนี้
* จัดเนื้อหาสาระและกิจกรรมให้สอดคล้องกับความสนใจ
และความถนัดของผู้เรียนโดยคำนึงถึงความแตกต่างระหว่างบุคคล
* ฝึกทักษะ กระบวนการคิด การจัดการ การเผชิญสถานการณ์
และการประยุกต์ความรู้มาใช้เพื่อป้องกันและแก้ปัญหา
* จัดกิจกรรมให้ผู้เรียนได้เรียนรู้จากประสบการณ์จริง
ฝึกการปฏิบัติให้ทำได้ คิดเป็น ทำเป็นรักการอ่านและเกิดการใฝ่รู้อย่างต่อเนื่อง
* จัดการเรียนการสอนให้มีความรู้คู่คุณธรรม ค่านิยมที่ดีงาม
และคุณลักษณ์อันพึงประสงค์ไว้ในทุกวิชา
* ส่งเสริม สนับสนุนให้ผู้สอนสามารถจัดบรรยากาศสภาพแวดล้อม
สื่อการเรียนและอำนวย ความสะดวกเพื่อให้ผู้เรียนเกิดการเรียนรู้สามารถ
ใช้การวิจัยเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการเรียนรู้
* จัดการเรียนรู้ให้เกิดขึ้นได้ทุกเวลาทุกสถานที่
ร่วมมือกับบิดา มารดา ชุมชนเพื่อพัฒนา ผู้เรียนตามศักยภาพ
ฉะนั้น ผู้จัดการศึกษาและครูผู้สอนจะต้องเปลี่ยนแปลงบทบาท
จากการเป็นผู้ชี้นำ ผู้ถ่ายทอดความรู้ไปเป็นช่วยเหลือ ส่งเสริม
และสนับสนุนผู้เรียนในการแสวงหาความรู้จากสื่อและแหล่งเรียนรู้ต่างๆ
และให้ข้อมูลที่ถูกต้องแก่ผู้เรียน โดยครูผู้สอนต้องมีบทบาทหน้าที่
ในการจัดการเรียนการสอนดังนี้
1. เตรียมตัวครู คือ ครูต้องมีความรู้ในเนื้อหาที่เด็กจะเรียนรวมถึง
แหล่งความรู้ที่จะแนะนำเด็กครูต้องค้นคว้าข้อมูล รับผิดชอบ
สิ่งที่จะเป็นประโยชน์ต่อผู้เรียน
2. เตรียมสื่อ อุปกรณ์ กิจกรรมให้เหมาะกับเนื้อหา
สื่อต้องหลากหลาย
3. เตรียมแผนการจัดการเรียนรู้หรือกิจกรรม ซึ่งสำคัญมากเพราะครู
ต้องคำนึงถึงกิจกรรมที่จัดให้สอดคล้องกับจุดประสงค์ที่ต้องการ
ให้เด็กเกิดการเรียนรู้เพราะจุดประสงค์จะทำให้เกิดกิจกรรมที่จัดให้กับเด็ก
4. เตรียมการประเมินผล เป็นการประเมินการเรียนการสอนให้
ตรงจุดประสงค์ของการเรียนรู้ดูได้จากผลงาน ซึ่งต้องใช้เครื่องมือ
อย่างหลากหลายและต้องประเมินให้ครอบคลุมทั้งความรู้ จิตพิสัย
และการปฏิบัติ

เพื่อนครูยุคโลกาภิวัตน์ ครูพันธุ์ใหม่ คงรู้แล้วนะคะว่า
จะจัดการเรียนการสอนให้สอดคล้องกับหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐาน
พุทธศักราช 2544 อย่างไร ครูมืออาชีพต้องพัฒนาผู้เรียน
ให้ได้รับทั้งความรู้ กระบวนการและเจตคติ เพื่อให้ผู้เรียนเป็นคนดี
คนเก่งและอยู่ในสังคมได้อย่างมีความสุข
……………………………….
*ศึกษานิเทศก์ ชำนาญการพิเศษ สพท.นครนายก

เอกสารอ้างอิง

กระทรวงศึกษาธิการ. (2545). หลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐาน
พุทธศักราช 2544. พิมพ์ครั้งที่ 2. กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์
องค์การรับส่งสินค้าและพัสดุภัณฑ์ (ร.ส.พ.).
กาญจนา ไชยพันธุ์. (2544, พฤษภาคม). “แนวคิดจิตวิทยาของ
โรเจอร์สกับการเรียนการสอนแบบผู้เรียนเป็นศูนย์กลาง,”
วารสารวิชาการ. 4(5) : 6 – 9.
สำนักงานรับรองมาตรฐานและประเมินคุณภาพการศึกษา (องค์การมหาชน).
(2547). พระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2542
แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2545. กรุงเทพฯ :
บริษัท พริกหวานกราฟฟิค จำกัด.

1 comment:

Unknown said...

ดีครับ อย่างน้อยก็ช่วยให้ครูที่ไม่ชอบอ่านหนังสือได้อ่านบ้าง
ขอเป็นกำลังใจให้ทาน ศน.สุบิน ณ อัมพร เขียนบทความที่ดีมีประโยชน์เช่นนี้ตลอดไป

นายสมศักดิ์ ศรีสิทธิกุล
รองผู้อำนวยการโรงเรียนนครนายกวิทยาคม