ผู้บริหารที่แท้ (Authentic Leader) เป็นอย่างไร
* สุบิน ณ อัมพร
เอกสารนิเทศทางไกล ฉบับที่ 3/2551 นี้ จะขอกล่าวถึง “การเป็นผู้บริหารและผู้นำที่ดี
เป็นอย่างไร” เนื่องจากผู้เขียนได้รับมอบหมายให้พูดในหัวข้อนี้ให้แก่ผู้บริหารโรงเรียนและครูฟัง
“โครงการพัฒนาโรงเรียนคุณธรรมต้นแบบและโรงเรียนวิถีพุทธ” ณ ชมพู –ม่วงรีสอร์ท ระหว่างวันที่ 4 – 6 สิงหาคม 2551 จึงคิดว่าน่าจะนำมาให้ผู้ที่สนใจเข้ามาเยี่ยมชมเว๊ปนี้ ได้อ่านกัน
การเป็นผู้บริหารและผู้นำที่ดี ควรมีลักษณะดังนี้
1. เป็นผู้รู้จักตนเอง (Self Realization)
· รู้ถึงความต้องการแห่งตน
· รู้ถึงวิธีการสร้างเป้าหมายแห่งตนไม่ว่าในชีวิตส่วนตัวหรืองาน
· รู้ถึงขีดความสามารถแห่งตนที่จะกระทำการใด ๆ ได้เพียงใด
2. การเป็นผู้วิเคราะห์หาเหตุหาผล (Analytical Mind)
· มองทุกสิ่งที่ปรากฏต่อหน้าอย่างลึกซึ้ง คิดถึงที่ไป ที่มา ไม่ใช่แค่ที่เห็น
· มองทุกเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ลึกถึงเหตุปัจจัยและสามารถคาดคะเนผลที่เกิดตามมาในปัจจุบันและในอนาคตได้
· เป็นผู้ที่ตั้งคำถามตลอดเวลา “ใคร (Who) ทำอะไร (What) ที่ไหน (Where)
เมื่อไร (When) ทำไม (Why) อย่างไร (How)
· เข้าใจถึงหลักการ “อริยสัจ” (ปัญหา,เหตุของปัญหา,การแก้ปัญหา วิธีแก้ปัญหา)
3. การเป็นผู้เรียนรู้ตลอดกาล (Life Long Learning)
· มีความรู้สึกว่าตนไม่รู้อะไรอีกมาก และตระหนักถึงความเป็นผู้ใฝ่รู้ตลอดเวลา
· เข้าใจดีกับการเปลี่ยนแปลงของโลก
· มองเห็น สิ่งของ ผู้คน เหตุการณ์ เป็นสื่อสอนตนได้ ไม่ว่าจะเป็นดีหรือสิ่งเลวและสามารถเลือกเก็บมาจดจำและหยิบออกมาใช้ได้อย่างเหมาะสม
· ใฝ่รู้ ติดตาม ความรู้ทุกเรื่อง โดยเฉพาะเกี่ยวข้องกับวิชาชีพและการดำรงชีวิต
· มุ่งเรียนรู้อย่างลึกซึ้งและจริงจังให้เป็นผู้รู้และเข้าใจในแต่ละเรื่องอย่างแท้จริง
· สามารถนำองค์ความรู้ที่มีอยู่มาใช้ประโยชน์ได้อย่างถูกต้อง ถูกเวลา และเหมาะสม
· การเรียนรู้มี 2 อย่าง เรียนรู้ในสิ่งที่ยังไม่รู้และเรียนรู้สิ่งที่เรารู้ให้รู้มากขึ้น
· นักปราชญ์บอกไว้ว่า “ความรู้ที่แท้จริง คือการรู้ว่าเรารู้อะไร” และ “รู้ว่าเราไม่รู้อะไร”
เพราะมันเป็นจุดเริ่มต้นให้ค้นหาความรู้ใหม่ ๆ อยู่เสมอ
4. ความเข้าใจในจิตวิทยาการบริหาร
· การบริหารงาน คือการบริหารคน นั่นเอง เพราะคนเป็นผู้กำหนดวิธีการได้
และบริหารทรัพยากรให้เกิดประโยชน์สูงสุดและผลสำเร็จของงาน
5. การเป็นคนดี “Good Person”
· คนเก่ง และคนดีเป็นของคู่กัน แต่บางครั้งไม่ได้ไปด้วยกัน “คนเก่ง” สร้างได้ตั้งแต่เด็กจนกระทั่งแก่เฒ่าโดยการเรียนรู้อย่างทุ่มเท แต่ “คนดี” สร้างได้ยากกว่าบางครั้งก็สร้างไม่ได้เลย
· มี IQ (Intelligence Quatient) - มีความรู้ ไหวพริบ เฉลียวฉลาด รู้แจ้งถึงความดี ความชั่ว รู้ที่จะเอาตัวรอดจากเล่ห์อุบายของตัณหา คนชั่ว และนำพาตนเองและผู้คนให้เห็นแจ้งในทางที่ดีที่ควรประพฤติ ปฏิบัติได้
· มี EQ (Emotional Quatient) – มีความอดกลั้น สติตั้งมั่น ไม่ไหวหวั่นต่อสิ่งยั่วยุจนตกในห้วง “กิเลส” คือ โลภะ โทสะ และโมหะ และเกิดปัญญาในการแก้ไข สร้างสรรค์ และเล็งเห็นผลเลิศในระยะยาวได้
· มี AQ (Adversity Quatient) - มีความอดทน มุ่งมั่น ไม่ย่อท้อต่ออุปสรรค พร้อมที่จะเสียสละแรงกายเพื่อให้ได้มาซึ่งอุดมคติแห่งตนและความดีที่ยึดมั่น ไม่ไหวหวั่น ต่อความลำบากและอุปสรรคใดๆ พร้อมที่จะเสียสละแรงกาย เพื่อให้ได้มาซึ่งอุดมคติแห่งตนและความดีที่ยึดมั่น ไม่หวั่นไหวต่อความลำบากและอุปสรรคใดๆ
· มี VQ (Void Quatient) - ไม่เป็นผู้ยึดติดกับสิ่งใดสิ่งหนึ่งจนเกินพอดี รู้ที่จะปรับเปลี่ยนตนเองตลอดเวลาให้สอดคล้องกับสภาวการณ์ที่มีการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลาอย่างเหมาะสม
· มี MQ (Moral Quatient) - เป็นผู้มีศีลธรรม คุณธรรม และจริยธรรม มีสำนึกของ “ความผิดชอบชั่วดี” มีความละอายใจต่อบาป ไม่ประพฤติชั่ว มุ่งทำแต่ความดี มีจิตที่ผ่องใส
อย่างไรก็ดีถ้าปราศจากความลำเอียงเพราะชอบ (ฉันทาคติ) ลำเอียงเพราะชัง (โทสาคติ)
ลำเอียงเพราะหลง (โมโหคติ) และลำเอียงเพราะกลัว (ภยาคติ) หรือเรียกว่า
“อคติ 4” การตัดสินใจอยู่
บนฐานของข้อมูล และต้องมี “สติ สัมปชัญญะ”
ในความคิดของผู้เขียนเองผู้บริหารที่ดีและที่แท้นั้นต้องมีหลักธรรมประจำใจโดยเฉพาะ “พรหมวิหาร 4” (เมตตา กรุณา มุทิตา และอุเบกขา) ในการบริหารคนให้อยู่อย่างมีความสุขและรักองค์กรอย่างแท้จริง เมื่อผู้ใต้บังคับบัญชารัก และศรัทธาในตัวผู้บริหารแล้ว ผู้เขียนคิดว่างานทุกอย่างเขาพร้อมที่จะ “ร่วมคิด ร่วมทำ ร่วมวางแผน และร่วมรับผิดชอบ” อย่างเต็มความสามารถและเต็มใจ สุดท้ายจริง ๆ ตัวผู้บริหารเองต้องมี “ความยุติธรรม”
--------------------------------------------
* ศึกษานิเทศก์ ชำนาญการพิเศษ สพท.นครนายก
ที่มา http://myzhulian.igetweb.com
Wednesday, October 1, 2008
Subscribe to:
Posts (Atom)