Saturday, December 20, 2008

หลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน
พุทธศักราช 2551
*สุบิน ณ อัมพร
เอกสารทางไกลฉบับที่ 5/2551 นี้ ก็ยังเป็นเรื่องของ
หลักสูตาแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน พุทธศักราช 2551
จะเห็นว่าสิ่งที่เพิ่มขึ้นมา คือ วิสัยทัศน์ สมรรถนะสำคัญ
และคุณลักษณะอันพึงประสงค์ และอีกคำจะต้องทำความเข้าใจ
คือคำว่า "ตัวชี้วัด" ซึ่งเป็นอย่างไรนั้น คงต้องย้อนกลับไปดู
เอกสารทางไกล ฉบับที่ 4/2551
(ต่อ..กลุ่มสาระการเรียนรู้วิทยาศาสตร์ คุณภาพผู้เรียนเมื่อนักเรียน
จบชั้น 1ป.3 ป.6 ม.3 และม.6 จะต้องมีความรู้ ความเข้าใจ
ความสามารถตลอดจนทักษะในเรื่องต่อไปนี้)

คุณภาพผู้เรียน

จบชั้นประถมศึกษาปีที่ ๓
· เข้าใจลักษณะทั่วไปของสิ่งมีชีวิต และการดำรงชีวิตของสิ่งมีชีวิต
ที่หลากหลายในสิ่งแวดล้อมท้องถิ่น
· เข้าใจลักษณะที่ปรากฏและการเปลี่ยนแปลงของวัสดุรอบตัว
แรงในธรรมชาติ รูปของพลังงาน
· เข้าใจสมบัติทางกายภาพของดิน หิน น้ำ อากาศ
ดวงอาทิตย์ และดวงดาว
· ตั้งคำถามเกี่ยวกับสิ่งมีชีวิต วัสดุและสิ่งของ และปรากฏการณ์
ต่างๆ รอบตัว สังเกต สำรวจตรวจสอบโดยใช้เครื่องมืออย่างง่าย
และสื่อสารสิ่งที่เรียนรู้ด้วยการเล่าเรื่อง เขียน หรือวาดภาพ
· ใช้ความรู้และกระบวนการทางวิทยาศาสตร์ ในการดำรงชีวิต
ศึกษาหาความรู้เพิ่มเติม ทำโครงงานหรือชิ้นงานตามที่กำหนดให้
หรือตามความสนใจ
· แสดงความกระตือรือร้น สนใจที่จะเรียนรู้ และแสดงความซาบซึ้ง
ต่อสิ่งแวดล้อมรอบตัว แสดงถึงความมีเมตตา ความระมัดระวัง
ต่อสิ่งมีชีวิตอื่น
· ทำงานที่ได้รับมอบหมายด้วยความมุ่งมั่น รอบคอบ ประหยัด
ซื่อสัตย์ จนเป็นผลสำเร็จ และทำงานร่วมกับผู้อื่นอย่างมีความสุข

จบชั้นประถมศึกษาปีที่ ๖
· เข้าใจโครงสร้างและการทำงานของระบบต่างๆ ของสิ่งมีชีวิต
และความสัมพันธ์ของสิ่งมีชีวิตที่หลากหลายในสิ่งแวดล้อมที่แตกต่างกัน
· เข้าใจสมบัติและการจำแนกกลุ่มของวัสดุ สถานะของสาร
สมบัติของสารและการทำให้สารเกิดการเปลี่ยนแปลง
สารในชีวิตประจำวัน การแยกสารอย่างง่าย
· เข้าใจผลที่เกิดจากการออกแรงกระทำกับวัตถุ ความดัน
หลักการเบื้องต้นของแรงลอยตัว สมบัติและปรากฏการณ์เบื้องต้น
ของแสง เสียง และวงจรไฟฟ้า
· เข้าใจลักษณะ องค์ประกอบ สมบัติของผิวโลก และบรรยากาศ
ความสัมพันธ์ของดวงอาทิตย์ โลก และดวงจันทร์ที่มีผลต่อ
การเกิดปรากฎการณ์ธรรมชาติ
· ตั้งคำถามเกี่ยวกับสิ่งที่จะเรียนรู้ คาดคะเนคำตอบหลายแนวทาง
วางแผนและสำรวจตรวจสอบโดยใช้เครื่องมือ อุปกรณ์ วิเคราะห์ข้อมูล
และสื่อสารความรู้จากผลการสำรวจตรวจสอบ
·ใช้ความรู้และกระบวนการทางวิทยาศาสตร์ในการดำรงชีวิต
และการศึกษาความรู้เพิ่มเติม ทำโครงงานหรือชิ้นงานตาม
ที่กำหนดให้หรือตามความสนใจ
· แสดงถึงความสนใจ มุ่งมั่น รับผิดชอบ รอบคอบและซื่อสัตย์
ในการสืบเสาะหาความรู้
· ตระหนักในคุณค่าของความรู้วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี
แสดงความชื่นชม ยกย่อง และเคารพสิทธิในผลงานของผู้คิดค้น
· แสดงถึงความซาบซึ้ง ห่วงใย แสดงพฤติกรรมเกี่ยวกับ
การใช้การดูแลรักษาทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมอย่างรู้คุณค่า
· ทำงานร่วมกับผู้อื่นอย่างสร้างสรรค์ แสดงความคิดเห็น
ของตนเองและยอมรับฟังความคิดเห็นของผู้อื่น

จบชั้นมัธยมศึกษาปีที่ ๓
· เข้าใจลักษณะและองค์ประกอบที่สำคัญของเซลล์สิ่งมีชีวิต
ความสัมพันธ์ของการทำงานของระบบต่างๆ การถ่ายทอดลักษณะ
ทางพันธุกรรม เทคโนโลยีชีวภาพ ความหลากหลายของสิ่งมีชีวิต
พฤติกรรมและการตอบสนองต่อสิ่งเร้าของสิ่งมีชีวิต
ความสัมพันธ์ระหว่างสิ่งมีชีวิตในสิ่งแวดล้อม
· เข้าใจองค์ประกอบและสมบัติของสารละลาย สารบริสุทธิ์
การเปลี่ยนแปลงของสารในรูปแบบของการเปลี่ยนสถานะ
การเกิดสารละลายและการเกิดปฏิกิริยาเคมี
· เข้าใจแรงเสียดทาน โมเมนต์ของแรง การเคลื่อนที่แบบต่างๆ
ในชีวิตประจำวัน กฎการอนุรักษ์พลังงาน การถ่ายโอนพลังงาน
สมดุลความร้อน การสะท้อน การหักเหและความเข้มของแสง
· เข้าใจความสัมพันธ์ระหว่างปริมาณทางไฟฟ้า หลักการต่อ
วงจรไฟฟ้าในบ้าน พลังงานไฟฟ้าและหลักการเบื้องต้นของ
วงจรอิเล็กทรอนิกส์
· เข้าใจกระบวนการเปลี่ยนแปลงของเปลือกโลก แหล่งทรัพยากรธรณี
ปัจจัยที่มีผลต่อการเปลี่ยนแปลงของบรรยากาศ ปฏิสัมพันธ์ภาย
ในระบบสุริยะ และผลที่มีต่อสิ่งต่างๆ บนโลก ความสำคัญของ
เทคโนโลยีอวกาศ
· เข้าใจความสัมพันธ์ระหว่างวิทยาศาสตร์กับเทคโนโลยี
การพัฒนาและผลของการพัฒนาเทคโนโลยีต่อคุณภาพชีวิต
และสิ่งแวดล้อม
· ตั้งคำถามที่มีการกำหนดและควบคุมตัวแปร คิดคาดคะเนคำตอบ
หลายแนวทาง วางแผนและลงมือสำรวจตรวจสอบ
วิเคราะห์และประเมินความสอดคล้องของข้อมูล
และสร้างองค์ความรู้
· สื่อสารความคิด ความรู้จากผลการสำรวจตรวจสอบโดยการพูด
เขียน จัดแสดง หรือใช้เทคโนโลยีสารสนเทศ
· ใช้ความรู้และกระบวนการทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี
ในการดำรงชีวิต การศึกษาหาความรู้เพิ่มเติม ทำโครงงาน
หรือสร้างชิ้นงานตามความสนใจ
· แสดงถึงความสนใจ มุ่งมั่น รับผิดชอบ รอบคอบ และซื่อสัตย์
ในการสืบเสาะหาความรู้โดยใช้ เครื่องมือและวิธีการที่
ให้ได้ผลถูกต้องเชื่อถือได้
· ตระหนักในคุณค่าของความรู้วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี
ที่ใช้ในชีวิตประจำวันและการประกอบอาชีพ แสดงความชื่นชม
ยกย่องและเคารพสิทธิในผลงานของผู้คิดค้น
· แสดงถึงความซาบซึ้ง ห่วงใย มีพฤติกรรมเกี่ยวกับการใช้
และรักษาทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมอย่างรู้คุณค่า
มีส่วนร่วมในการพิทักษ์ ดูแลทรัพยากรธรรมชาติ
และสิ่งแวดล้อมในท้องถิ่น
· งานร่วมกับผู้อื่นอย่างสร้างสรรค์ แสดงความคิดเห็น
ของตนเองและยอมรับฟังความคิดเห็นของผู้อื่น

จบชั้นมัธยมศึกษาปีที่ ๖
· เข้าใจการรักษาดุลยภาพของเซลล์และกลไก
การรักษาดุลยภาพของสิ่งมีชีวิต
· เข้าใจกระบวนการถ่ายทอดสารพันธุกรรม การแปรผันมิวเทชัน
วิวัฒนาการของสิ่งมีชีวิต ความหลากหลายของสิ่งมีชีวิต
และปัจจัยที่มีผลต่อการอยู่รอดของสิ่งมีชีวิตในสิ่งแวดล้อมต่างๆ
·เข้าใจกระบวนการ ความสำคัญและผลของเทคโนโลยีชีวภาพ
ต่อมนุษย์ สิ่งมีชีวิตและสิ่งแวดล้อม
· เข้าใจชนิดของอนุภาคสำคัญที่เป็นส่วนประกอบในโครงสร้างอะตอม
การจัดเรียงธาตุในตารางธาตุ การเกิดปฏิกิริยาเคมีและเขียนสมการเคมี
ปัจจัยที่มีผลต่ออัตราการเกิดปฏิกิริยาเคมี
· เข้าใจชนิดของแรงยึดเหนี่ยวระหว่างอนุภาคและสมบัติต่างๆ
ของสารที่มีความสัมพันธ์กับแรงยึดเหนี่ยว
· เข้าใจการเกิดปิโตรเลียม การแยกแก๊สธรรมชาติ
และการกลั่นลำดับส่วนน้ำมันดิบ การนำผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียม
ไปใช้ประโยชน์และผลต่อสิ่งมีชีวิตและสิ่งแวดล้อม
· ข้าใจชนิด สมบัติ ปฏิกิริยาที่สำคัญของพอลิเมอร์และสารชีวโมเลกุล
· เข้าใจความสัมพันธ์ระหว่างปริมาณที่เกี่ยวกับการเคลื่อนที่แบบต่างๆ
สมบัติของคลื่นกล คุณภาพของเสียงและการได้ยิน สมบัติ ประโยชน์
โทษของคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า กัมมันตภาพรังสีและพลังงานนิวเคลียร์
· ข้าใจกระบวนการเปลี่ยนแปลงของโลกและปรากฏการณ์ทางธรณี
ที่มีผลต่อสิ่งมีชีวิตและสิ่งแวดล้อม
· เข้าใจการเกิดและวิวัฒนาการของระบบสุริยะ
กาแล็กซี เอกภพและความสำคัญของเทคโนโลยีอวกาศ
· เข้าใจความสัมพันธ์ของความรู้วิทยาศาสตร์ที่มีผลต่อ
การพัฒนาเทคโนโลยีประเภทต่างๆ และการพัฒนาเทคโนโลยี
ที่ส่งผลให้มีการคิดค้นความรู้ทางวิทยาศาสตร์ที่ก้าวหน้า
ผลของเทคโนโลยีต่อชีวิต สังคม และสิ่งแวดล้อม
· ระบุปัญหา ตั้งคำถามที่จะสำรวจตรวจสอบ โดยมีการกำหนด
ความสัมพันธ์ระหว่างตัวแปรต่างๆ สืบค้นข้อมูลจากหลายแหล่ง
ตั้งสมมติฐานที่เป็นไปได้หลายแนวทาง ตัดสินใจเลือก
ตรวจสอบสมมติฐานที่เป็นไปได้
· วางแผนการสำรวจตรวจสอบเพื่อแก้ปัญหาหรือตอบคำถาม
วิเคราะห์ เชื่อมโยงความสัมพันธ์ของตัวแปรต่างๆ โดยใช้
สมการทางคณิตศาสตร์หรือสร้างแบบจำลองจากผล
หรือความรู้ที่ได้รับจากการสำรวจตรวจสอบ
· สื่อสารความคิด ความรู้จากผลการสำรวจตรวจสอบโดยการพูด
เขียน จัดแสดง หรือใช้เทคโนโลยีสารสนเทศ
· อธิบายความรู้และใช้กระบวนการทางวิทยาศาสตร์ในการดำรงชีวิต
การศึกษาหาความรู้เพิ่มเติม ทำโครงงานหรือสร้างชิ้นงานตามความสนใจ
· แสดงถึงความสนใจ มุ่งมั่น รับผิดชอบ รอบคอบและซื่อสัตย์
ในการสืบเสาะหาความรู้ โดยใช้เครื่องมือและวิธีการที่
ให้ได้ผลถูกต้องเชื่อถือได้
· ตระหนักในคุณค่าของความรู้วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี
ที่ใช้ในชีวิตประจำวัน การประกอบอาชีพ แสดงถึงความชื่นชม
ภูมิใจ ยกย่อง อ้างอิงผลงาน ชิ้นงานที่เป็นผลจากภูมิปัญญาท้องถิ่น
และการพัฒนาเทคโนโลยีที่ทันสมัย
· แสดงความซาบซึ้ง ห่วงใย มีพฤติกรรมเกี่ยวกับการใช้
และรักษาทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมอย่างรู้คุณค่า
เสนอตัวเองร่วมมือปฏิบัติกับชุมชนในการป้องกัน
ดูแลทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมของท้องถิ่น
· แสดงถึงความพอใจ และเห็นคุณค่าในการค้นพบความรู้
พบคำตอบ หรือแก้ปัญหาได้
· ทำงานร่วมกับผู้อื่นอย่างสร้างสรรค์ แสดงความคิดเห็น
โดยมีข้อมูลอ้างอิงและเหตุผลประกอบ เกี่ยวกับผลของ
การพัฒนาและการใช้วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี
อย่างมีคุณธรรมต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม
และยอมรับฟังความคิดเห็นของผู้อื่น

(โปรดติดตามต่อไปนะคะ)
--------------
* ศึกษานิเทศก์ ชำนาญการพิเศษ สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษานครนายก

Thursday, December 18, 2008

Thursday, December 18, 2008

หลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน
พุทธศักราช 2551

* สุบิน ณ อัมพร

เอกสารนิเทศทางไกล ฉบับที่ 4/2551 นี้ เนื่องจากวันนี้ 18 ธันวาคม 2551
กลุ่มนิเทศ ติดตาม และประเมินผลการจัดการศึกษาได้มีการประชุมเชิงปฏิบัติการ
เกี่ยวกับ "หลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน พุทธศักราช 2551"
ให้ศึกษานิเทศก์ทุกคนได้มีความรู้ ความเข้าใจพร้อมที่จะให้คำปรึกษา
แนะนำและเป็นที่พึ่งพาได้ โดยการนำของนายสมชาย พุ่มพิมล
หัวหน้ากลุ่มนิเทศฯ และวิทยากร นายสุนทร เชยชื่น และคณะได้มาให้ความรู้
ดิฉันเห็นว่าเป็นประโยชน์แก่สถานศึกษาโดยตรงและเพื่อนครู อาจารย์
ตลอดจนผู้ปกครองหรือผู้ที่สนใจ ได้อ่านกัน ซึ่งสำนักงานเขตพื้นที่
การศึกษานครนายก มีโรงเรียนต้นแบบและโรงเรียนที่มีความพร้อมใช้
หลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน พุทธศักราช 2551
ในปีการศึกษา 2552 จำนวนทั้งหมด 36 โรงเรียน ซึ่งโรงเรียนนครนายกวิทยาคม
ก็เป็นหนึ่งใน โรงเรียนเหล่านั้น กลุ่มโรงเรียนนครนายก - สาริกา
มี 3 โรงเรียนได้แก่ โรงเรียนอนุบาลนครนายก(โรงเรียนต้นแบบ)
โรงเรียนนครนายกวิทยาคมและโรงเรียนวัดพรามณี (โรงเรียนที่มีความพร้อม)
ขอขอบคุณ ศน.สุนทร เชยชื่น ที่ได้อนุเคราะห์power point และเอกสารความรู้
ไว้ ณ โอกาสนี้
(ขอนำกลุ่มสาระการเรียนรู้วิทยาศาสตร์มาให้ทราบก่อนเนื่องจาก
ผู้เขียนรับผิดชอบกลุ่มสาระการเรียนรู้วิทยาศาสตร์)

หลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน พุทธศักราช 2551
มีอะไรปรับ/เพิ่มเติมบ้าง

วิสัยทัศน์


หลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน มุ่งพัฒนาผู้เรียนทุกคน ซึ่งเป็น

กำลังของชาติให้เป็นมนุษย์ที่มีความสมดุลทั้งด้านร่างกาย ความรู้ คุณธรรม
มีจิตสำนึกในความเป็นพลเมืองไทยและเป็นพลโลก ยึดมั่นในการปกครองตาม
ระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข มีความรู้และทักษะพื้นฐาน
รวมทั้ง เจตคติ ที่จำเป็นต่อการศึกษาต่อ การประกอบอาชีพและการศึกษาตลอดชีวิต
โดยมุ่งเน้นผู้เรียนเป็นสำคัญบนพื้นฐานความเชื่อว่า ทุกคนสามารถเรียนรู้
และพัฒนาตนเอง ได้เต็มตามศักยภาพ

หลักการ

หลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน มีหลักการที่สำคัญ ดังนี้
๑. เป็นหลักสูตรการศึกษาเพื่อความเป็นเอกภาพของชาติ มีจุดหมาย
และมาตรฐานการเรียนรู้ เป็นเป้าหมายสำหรับพัฒนาเด็กและเยาวชนให้มีความรู้
ทักษะ เจตคติ และคุณธรรมบนพื้นฐาน ของความเป็นไทยควบคู่กับความเป็นสากล
๒. เป็นหลักสูตรการศึกษาเพื่อปวงชน ที่ประชาชนทุกคนมีโอกาสได้รับการศึกษา

อย่างเสมอภาค และมีคุณภาพ
๓. เป็นหลักสูตรการศึกษาที่สนองการกระจายอำนาจ ให้สังคมมีส่วนร่วมใน

การจัดการศึกษา ให้สอดคล้องกับสภาพและความต้องการของท้องถิ่น
๔. เป็นหลักสูตรการศึกษาที่มีโครงสร้างยืดหยุ่นทั้งด้านสาระการเรียนรู้ เวลา

และการจัดการเรียนรู้
๕. เป็นหลักสูตรการศึกษาที่เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญ
๖. เป็นหลักสูตรการศึกษาสำหรับการศึกษาในระบบ นอกระบบ และตามอัธยาศัย

ครอบคลุมทุกกลุ่มเป้าหมาย สามารถเทียบโอนผลการเรียนรู้ และประสบการณ์

จุดหมาย

หลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน มุ่งพัฒนาผู้เรียนให้เป็นคนดี มีปัญญา
มีความสุข มีศักยภาพในการศึกษาต่อ และประกอบอาชีพ จึงกำหนดเป็นจุดหมาย
เพื่อให้เกิดกับผู้เรียน เมื่อจบการศึกษาขั้นพื้นฐาน ดังนี้
๑. มีคุณธรรม จริยธรรม และค่านิยมที่พึงประสงค์ เห็นคุณค่าของตนเอง มีวินัย

และปฏิบัติตนตามหลักธรรมของพระพุทธศาสนา หรือศาสนาที่ตนนับถือ
ยึดหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง
๒. มีความรู้ ความสามารถในการสื่อสาร การคิด การแก้ปัญหา การใช้เทคโนโลยี

และมีทักษะชีวิต
๓. มีสุขภาพกายและสุขภาพจิตที่ดี มีสุขนิสัย และรักการออกกำลังกาย
๔. มีความรักชาติ มีจิตสำนึกในความเป็นพลเมืองไทยและพลโลก ยึดมั่นในวิถีชีวิต

และ การปกครองตามระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข
๕. มีจิตสำนึกในการอนุรักษ์วัฒนธรรมและภูมิปัญญาไทย การอนุรักษ์

และพัฒนาสิ่งแวดล้อม มีจิตสาธารณะที่มุ่งทำประโยชน์และสร้างสิ่งที่ดีงาม
ในสังคม และอยู่ร่วมกันในสังคม อย่างมีความสุข

สมรรถนะสำคัญของผู้เรียน และคุณลักษณะอันพึงประสงค์
ในการพัฒนาผู้เรียนตามหลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน มุ่งเน้นพัฒนาผู้เรียน
ให้มีคุณภาพตามมาตรฐานที่กำหนด ซึ่งจะช่วยให้ผู้เรียนเกิดสมรรถนะสำคัญ
และคุณลักษณะอันพึงประสงค์ ดังนี้

สมรรถนะสำคัญของผู้เรียน

หลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน มุ่งให้ผู้เรียนเกิดสมรรถนะสำคัญ ๕ ประการ ดังนี้
๑. ความสามารถในการสื่อสาร เป็นความสามารถในการรับและส่งสาร มีวัฒนธรรม

ในการใช้ภาษาถ่ายทอดความคิด ความรู้ความเข้าใจ ความรู้สึก และทัศนะ
ของตนเอง เพื่อแลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสารและประสบการณ์อันจะเป็นประโยชน์
ต่อการพัฒนาตนเอง และสังคม รวมทั้งการเจรจาต่อรองเพื่อขจัดและลดปัญหา
ความขัดแย้งต่าง ๆ การเลือกรับ หรือไม่รับข้อมูลข่าวสารด้วยหลักเหตุผล
และความถูกต้อง ตลอดจนการเลือกใช้ วิธีการสื่อสาร ที่มีประสิทธิภาพ
โดยคำนึงถึงผลกระทบที่มีต่อตนเองและสังคม
๒. ความสามารถในการคิด เป็นความสามารถในการคิดวิเคราะห์ การคิดสังเคราะห์

การคิด อย่างสร้างสรรค์ การคิดอย่างมีวิจารณญาณ และการคิดเป็นระบบ เพื่อนำ
ไปสู่การสร้างองค์ความรู้หรือสารสนเทศเพื่อการตัดสินใจเกี่ยวกับตนเองและสังคม
ได้อย่างเหมาะสม
๓. ความสามารถในการแก้ปัญหา เป็นความสามารถในการแก้ปัญหา

และอุปสรรคต่าง ๆ ที่เผชิญได้อย่างถูกต้องเหมาะสมบนพื้นฐานของ
หลักเหตุผล คุณธรรม และข้อมูลสารสนเทศ เข้าใจความสัมพันธ์
และการเปลี่ยนแปลงของเหตุการณ์ต่าง ๆ ในสังคม แสวงหาความรู้
ประยุกต์ความรู้มาใช้ในการป้องกันและแก้ไขปัญหา
และมีการตัดสินใจที่มีประสิทธิภาพ โดยคำนึงถึงผลกระทบที่เกิดขึ้น
ต่อตนเอง สังคมและสิ่งแวดล้อม
๔. ความสามารถในการใช้ทักษะชีวิต เป็นความสามารถในการนำ

กระบวนการต่าง ๆ ไปใช้ในการดำเนินชีวิตประจำวัน การเรียนรู้ด้วยตนเอง
การเรียนรู้อย่างต่อเนื่อง การทำงาน และการอยู่ร่วมกันในสังคม
ด้วยการสร้างเสริมความสัมพันธ์อันดีระหว่างบุคคล การจัดการปัญหา
และความขัดแย้งต่าง ๆ อย่างเหมาะสม การปรับตัวให้ทันกับ
การเปลี่ยนแปลง ของสังคมและสภาพแวดล้อม และการรู้จักหลีกเลี่ยง
พฤติกรรมไม่พึงประสงค์ที่ส่งผลกระทบ ต่อตนเองและผู้อื่น
๕. ความสามารถในการใช้เทคโนโลยี เป็นความสามารถในการเลือก

และใช้ เทคโนโลยีด้านต่าง ๆ และมีทักษะกระบวนการทางเทคโนโลยี
เพื่อการพัฒนาตนเองและสังคม ในด้านการเรียนรู้ การสื่อสาร
การทำงาน การแก้ปัญหาอย่างสร้างสรรค์ ถูกต้อง เหมาะสม
และมีคุณธรรม


คุณลักษณะอันพึงประสงค์

หลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน มุ่งพัฒนาผู้เรียนให้มีคุณลักษณะอันพึงประสงค์
เพื่อให้สามารถอยู่ร่วมกับผู้อื่นในสังคมได้อย่างมีความสุข ในฐานะเป็นพลเมืองไทย
และพลโลก ดังนี้
๑. รักชาติ ศาสน์ กษัตริย์
๒. ซื่อสัตย์สุจริต
๓. มีวินัย
๔. ใฝ่เรียนรู้
๕. อยู่อย่างพอเพียง
๖. มุ่งมั่นในการทำงาน
๗. รักความเป็นไทย
๘. มีจิตสาธารณะ


นอกจากนี้ สถานศึกษาสามารถกำหนดคุณลักษณะอันพึงประสงค์เพิ่มเติม
ให้สอดคล้องตามบริบทและจุดเน้นของตนเอง

มาตรฐานการเรียนรู้

การพัฒนาผู้เรียนให้เกิดความสมดุล ต้องคำนึงถึงหลักพัฒนาการทางสมองและพหุปัญญา

หลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน จึงกำหนดให้ผู้เรียนเรียนรู้
๘ กลุ่มสาระการเรียนรู้ ดังนี้
๑. ภาษาไทย
๒. คณิตศาสตร์
๓. วิทยาศาสตร์
๔. สังคมศึกษา ศาสนา และวัฒนธรรม
๕. สุขศึกษาและพลศึกษา
๖. ศิลปะ
๗. การงานอาชีพและเทคโนโลยี
๘. ภาษาต่างประเทศ


ตัวชี้วัด

ตัวชี้วัดระบุสิ่งที่นักเรียนพึงรู้และปฏิบัติได้ รวมทั้งคุณลักษณะของผู้เรียน
ในแต่ละระดับชั้นซึ่งสะท้อนถึงมาตรฐานการเรียนรู้ มีความเฉพาะเจาะจง
และมีความเป็นรูปธรรม นำไปใช้ในการกำหนดเนื้อหา จัดทำหน่วยการเรียนรู้
จัดการเรียนการสอน และเป็นเกณฑ์สำคัญสำหรับการวัดประเมินผลเพื่อ
ตรวจสอบคุณภาพผู้เรียน

๑. ตัวชี้วัดชั้นปี เป็นเป้าหมายในการพัฒนาผู้เรียนแต่ละชั้นปีใน
ระดับการศึกษาภาคบังคับ (ประถมศึกษาปีที่ ๑ – มัธยมศึกษาปีที่ ๓)

๒. ตัวชี้วัดช่วงชั้น เป็นเป้าหมายในการพัฒนาผู้เรียนในระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย
(มัธยมศึกษาปีที่ ๔- ๖)

กลุ่มสาระการเรียนรู้วิทยาศาสตร์

ทำไมต้องเรียนวิทยาศาสตร์

วิทยาศาสตร์มีบทบาทสำคัญยิ่งในสังคมโลกปัจจุบันและอนาคต

เพราะวิทยาศาสตร์ เกี่ยวข้องกับทุกคนทั้งในชีวิตประจำวัน
และการงานอาชีพต่าง ๆ ตลอดจนเทคโนโลยี
เครื่องมือเครื่องใช้และผลผลิตต่าง ๆ ที่มนุษย์ได้ใช้เพื่อ
อำนวยความสะดวกในชีวิต และการทำงาน เหล่านี้ล้วนเป็นผล
ของความรู้วิทยาศาสตร์ ผสมผสานกับความคิดสร้างสรรค์
และศาสตร์อื่น ๆ วิทยาศาสตร์ช่วยให้มนุษย์ได้พัฒนาวิธีคิด
ทั้งความคิดเป็นเหตุเป็นผล คิดสร้างสรรค์ คิดวิเคราะห์ วิจารณ์
มีทักษะสำคัญในการค้นคว้าหาความรู้ มีความสามารถ
ในการแก้ปัญหาอย่างเป็นระบบ สามารถตัดสินใจโดยใช้ข้อมูล
ที่หลากหลายและมีประจักษ์พยาน ที่ตรวจสอบได้ วิทยาศาสตร์
เป็นวัฒนธรรมของโลกสมัยใหม่ซึ่งเป็นสังคมแห่งการเรียนรู้
(K knowledge-based society) ดังนั้นทุกคนจึงจำเป็น
ต้องได้รับการพัฒนาให้รู้วิทยาศาสตร์ เพื่อที่จะมีความรู้ความเข้าใจ
ในธรรมชาติและเทคโนโลยีที่มนุษย์สร้างสรรค์ขึ้น
สามารถนำความรู้ไปใช้อย่างมีเหตุผล สร้างสรรค์ และมีคุณธรรม

เรียนรู้อะไรในวิทยาศาสตร์

กลุ่มสาระการเรียนรู้วิทยาศาสตร์มุ่งหวังให้ผู้เรียน ได้เรียนรู้วิทยาศาสตร์ที่เน้น
การเชื่อมโยงความรู้กับกระบวนการ มีทักษะสำคัญในการค้นคว้าและสร้างองค์ความรู้
โดยใช้กระบวนการในการสืบเสาะหาความรู้ และการแก้ปัญหาที่หลากหลาย
ให้ผู้เรียนมีส่วนร่วมในการเรียนรู้ทุกขั้นตอน มีการทำกิจกรรมด้วยการลงมือปฏิบัติจริง
อย่างหลากหลาย เหมาะสมกับระดับชั้น โดยได้กำหนดสาระสำคัญไว้ดังนี้

· สิ่งมีชีวิตกับกระบวนการดำรงชีวิต สิ่งมีชีวิต หน่วยพื้นฐานของสิ่งมีชีวิต โครงสร้าง
และหน้าที่ของระบบต่าง ๆ ของสิ่งมีชีวิต และกระบวนการดำรงชีวิต ความหลากหลาย
ทางชีวภาพ การถ่ายทอดทางพันธุกรรม การทำงานของระบบต่าง ๆ ของสิ่งมีชีวิต
วิวัฒนาการและความหลากหลายของสิ่งมีชีวิต และเทคโนโลยีชีวภาพ

· ชีวิตกับสิ่งแวดล้อม

สิ่งมีชีวิตที่หลากหลายรอบตัว ความสัมพันธ์ระหว่างสิ่งมีชีวิตกับสิ่งแวดล้อม
ความสัมพันธ์ของสิ่งมีชีวิตต่าง ๆ ในระบบนิเวศ ความสำคัญของทรัพยากรธรรมชาติ
การใช้และจัดการทรัพยากรธรรมชาติ ในระดับท้องถิ่น ประเทศ และโลก ปัจจัย
ที่มีผลต่อการอยู่รอดของสิ่งมีชีวิตในสภาพแวดล้อมต่าง ๆ

· สารและสมบัติของสาร สมบัติของวัสดุและสาร แรงยึดเหนี่ยวระหว่างอนุภาค
การเปลี่ยนสถานะ การเกิดสารละลายและการเกิดปฏิกิริยาเคมีของสาร สมการเคมี
และการแยกสาร

· แรงและการเคลื่อนที่ ธรรมชาติของแรงแม่เหล็กไฟฟ้า แรงโน้มถ่วง แรงนิวเคลียร์
การออกแรงกระทำต่อวัตถุ การเคลื่อนที่ของวัตถุ แรงเสียดทาน โมเมนต์การเคลื่อนที่
แบบต่าง ๆ ในชีวิตประจำวัน

· พลังงาน พลังงานกับการดำรงชีวิต การเปลี่ยนรูปพลังงาน สมบัติและปรากฏการณ์
ของแสง เสียง และวงจรไฟฟ้า คลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า กัมมันตภาพรังสีและปฏิกิริยานิวเคลียร์
ปฏิสัมพันธ์ระหว่างสารและพลังงานการอนุรักษ์พลังงาน ผลของการใช้พลังงาน
ต่อชีวิตและสิ่งแวดล้อม

· กระบวนการเปลี่ยนแปลงของโลก โครงสร้างและองค์ประกอบของโลก
ทรัพยากรทางธรณี สมบัติทางกายภาพของดิน หิน น้ำ อากาศ สมบัติของผิวโลก
และบรรยากาศ กระบวนการเปลี่ยนแปลงของเปลือกโลก ปรากฏการณ์ทางธรณี
ปัจจัยที่มีผลต่อการเปลี่ยนแปลงของบรรยากาศ

· ดาราศาสตร์และอวกาศ วิวัฒนาการของระบบสุริยะ กาแล็กซี เอกภพ
ปฏิสัมพันธ์และผลต่อสิ่งมีชีวิตบนโลก ความสัมพันธ์ของดวงอาทิตย์ ดวงจันทร์
และโลก ความสำคัญของเทคโนโลยีอวกาศ

· ธรรมชาติของวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี กระบวนการทางวิทยาศาสตร์
การสืบเสาะหาความรู้ การแก้ปัญหา และจิตวิทยาศาสตร์

จะเห็นว่าในหลักสูตรแกนกลางฯ สาระและมาตรฐานการเรียนรู้ก็ยังเหมือนเดิม
สาระที่ 1-สาระที่ 8 (โปรดติดตามในรายละเอียดต่อไปนะคะ)
-----------------
* ศึกษานิเทศก์ชำนาญการพิเศษ สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษานครนายก
Posted by SubinNa at 5:00 AM
Labels: